คลังบทความของบล็อก

ล่าสุด

เดียนเบียนฟู เมืองสมรภูมิฝรั่งเศส


• เดียนเบียนฟู
• เดียนเบียนฟู เป็นจังหวัดหนึ่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ห่างจากกรุงฮานอยประมาณ 200 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกห่างจากชายแดนประเทศลาวเพียง 35 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นที่ราบล้อมรอบด้วยภูเขาสูง และเป็นสมรภูมิรบอันลือลั่นในช่วงสงครามอินโดจีนครั้งแรก (พ.ศ. 2489 - 2497) ซึ่งเป็นการสู้รบระหว่างกองทัพฝรั่งเศสกับกองทัพฝ่ายต่อต้านการครอบครองของชาวเวียดนาม นำโดยโฮจิมินห์ ที่เรียกว่ากองทัพเวียดมินห์ การสู้รบครั้งนี้สิ้นสุดด้วยการพ่ายแพ้อย่างไม่น่าเชื่อของกองทัพฝรั่งเศส ที่มีทั้งกำลังคนและอาวุธทันสมัยกว่า และได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา
• การรบที่เดียนเบียนฟู เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2497 เดิมทีฝรั่งเศสได้ยึดป้อมเดียนเบียนฟูที่อยู่กลางหุบเขาไว้ได้ ซึ่งนับเป็นจุดยุทธศาสตร์ เพราะมีชัยภูมิที่เป็นภูเขาล้อมรอบ ทำให้ยากแก่การเข้าโจมตี โดยฝรั่งเศสตั้งเป้าว่า ตราบใดที่รักษาเดียนเบียนฟูไว้ เวียดมินห์ก็ไม่สามารถรุกต่อไปได้ และจะกลายเป็นขวากหนามที่คอยกันไม่ให้เวียดมินห์เคลื่อนทหารได้ตามความต้องการ แต่ในขณะที่ฝรั่งเศส มีกำลังมั่นใจในความแข็งแกร่งของป้อมเดียนเบียนฟูอยู่นั้น โฮจิมินห์ได้อาศัยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของทหารประชาชน ซึ่งถอดปืนใหญ่ออกเป็นชิ้นๆ แล้วขนลำเลียงขึ้นไปบนยอดเขารอบเมืองเดียนเบียนฟูอย่างลำบากยากเย็น ครั้นประกอบปืนใหญ่เสร็จ ทหารเวียดมินห์ที่อยู่ตามยอดเขารอบป้อมเดียนเบียนฟู ก็ระดมยิงปืนใหญ่เข้าตีป้อมของฝรั่งเศสอย่างพร้อมเพรียงกัน จนป้อมเดียนเบียนฟูแตก ฝรั่งเศสต้องยอมพ่ายแพ้และถอนตัวไปจากเวียดนามในที่สุด การรบครั้งนี้ถือว่าเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของชาติเอเชียอาคเนย์เหนือชาติมหาอำนาจตะวันตก ขณะที่ข้อตกลงในการประชุมเจนีวาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 1954 แบ่งเวียดนามออกเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ด้วยเส้นขนานที่ 17 ก่อนที่สงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 หรือสงครามเวียดนามจะเกิดตามมาอีกใน 3 ปีถัดมา โดยสหรัฐฯเข้ามามีบทบาทในการสู้รบและก็พ่ายแพ้ไปในที่สุดเช่นกัน

• ชาวไทดำ หรือ ชาวลาวโซ่ง เป็นกลุ่มชาวไทกลุ่มหนึ่ง ที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในเขตสิบสองจุไทเดิม หรือบริเวณลุ่มแม่น้ำดำและแม่น้ำแดงในเวียดนามเหนือ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของ ชาวไทดำ ชาวไทแดง และชาวไทขาว
   ในสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองเวียดนาม และลาว พวกเขาได้เรียกชนเผ่าที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำดำว่า ไทดำ ที่เรียกว่าไทดำ เพราะว่ากลุ่มชนเผ่าไทดังกล่าว นิยมสวมเสื้อผ้าสีดำอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งย้อมด้วยต้นหอมหรือต้นคราม
• การอพยพของชาวไทดำสู่ประเทศไทย
• ในปี พ.ศ. 2438 และ ปี พ.ศ. 2439 ได้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของชาวผู้ไทขึ้น สาเหตุก็มาจากศึกสงครามแย่งชิงอำนาจกัน ระหว่างบรรดาหัวหน้าของไทดำกลุ่มต่างๆ ในแคว้นสิบสองจุไท พวกไทดำจึงได้อพยพเข้ามาในประเทศลาวและในภาคอีสานของประเทศไทย
ในประเทศลาวนั้น ชาวไทดำส่วนมากได้ตั้งถิ่นฐานใน แขวงหลวงน้ำทา แขวงบ่อแก้ว แขวงอุดมชัย แขวงหัวพัน และ แขวงซำเหนือ ส่วนในในประเทศไทยนั้น ก็อพยพเข้ามาด้วยเช่นกัน โดยมา้ตั้งถิ่นฐานในภาคอีสานตอนบน เช่น จังหวัดนครพนม, กาฬสินธุ์, มุกดาหาร, ร้อยเอ็ด และ สกลนคร
• ในช่วงระหว่าง ปี พ.ศ. 2496 จนถึงปี พ.ศ. 2497 ได้เกิดสงครามในเมืองเดียนเบียนฟู ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองของแคว้นสิบสองจุไทเดิม ชาวผู้ไทจึงได้อพยพหลบหนีการเกณฑ์ทหารของฝรั่งเศส เข้ามาในประเทศลาวและในประเทศไทยอีกระรอบ
• ชาวไทดำในประเทศไทย
ในประเทศไทย คนไทยเรียกเรียกชาวไทดำว่า ลาวโซ่ง คำว่า “โซ่ง” นั้นน่าจะมาจากคำว่า ซ่วง หรือ ซ่ง ซึ่งเป็นภาษาไทดำ แปลว่ากางเกง เพราะว่าชาวไทดำเหล่านี้สวมกางเกงสีดำ
• ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้นพระองค์ทรงไปตีกรุงเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ. 2322 พระองค์ทรงได้กวาดต้อนชาวไทดำที่อพยพมาจากสิบสองจุไท ส่งไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองเพชรบุรี และต่อมาในปี พ.ศ. 2335 สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและในปี พ.ศ. 2381 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็ทรงยกทัพไปตีเวียงจันทน์ และก็ได้กวาดต้อนชาวไทดำมาอีก ซึ่งในปัจจุบันตั้งถิ่นฐานกระจายกันอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี พิจิตร พิษณุโลก กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันเรียกคนเหล่านี้ว่า ชาวไทยโซ่ง



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลการท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม

ประเทศเวียดนาม มีรูปร่างคล้ายตัว S ทอดตัวยาวเหยียดไปตามแหลมอินโดจีน ด้านตะวันออกติดทะเลจีนใต้ ด้านเหนือติดจีน ด้านตะวันตกติดลาว และกัมพูชา สามในสี่ของพื้นที่เป็นภูเขาและป่า ครอบคลุมทะเล ไหล่ทวีป และหมู่เกาะนับพันเกาะจากอ่าวตังเกี๋ยจรดอ่าวไทย รวมทั้งหมู่เกาะสแปรตลีและพาราเซลที่จีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศแย่งกันอ้างกรรมสิทธิ์ สาเหตุเป็นเพราะมีแหล่งน้ำมันใต้ดินที่อุดมสมบูรณ์

แผนที่ประเทศเวียดนาม